ข่าวเด่น » ประกาศแล้ว กฎกระทรวงศึกษาธิการแก้วัยรุ่นตั้งท้องระหว่างเรียน ห้ามไล่ออก

ประกาศแล้ว กฎกระทรวงศึกษาธิการแก้วัยรุ่นตั้งท้องระหว่างเรียน ห้ามไล่ออก

13 ตุลาคม 2018
1538   0

 

ราชกิจจาฯ ประกาศกฎกระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้สถานศึกษาตั้งแต่ระดับประถมไปจนถึงอุดมศึกษา ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น โดยจัดให้มีการเรียนการสอนเพศศึกษาที่ถูกต้อง พร้อมห้ามไล่ออกนักเรียนหรือนักศึกษาที่ตั้งครรภ์ โดยให้ลาหยุดเรียนระหว่างตั้งท้อง คลอดบุตรและดูแลบุตรได้ พร้อมให้มีช่องทางดูแลช่วยเหลือคุ้มครองนักเรียนหรือนักศึกษาที่ตั้งครรภ์ด้วย 

วันที่ 12 ต.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ กฎกระทรวงศึกษาธิการ กำหนดประเภทของสถานศึกษาและการดำเนินการของสถานศึกษาในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2561 ซึ่งออกตามมาตรา 4 วรรคหนึ่ง และมาตรา 6 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 โดยให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

สาระสำคัญของกฎกระทรวงฉบับนี้ คือ การกำหนดประเภทสถานศึกษาที่จะต้องดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ได้แก่ สถานศึกษาที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในระดับประถมศึกษา และ มัธยมศึกษา สถานศึกษาที่จัดการอาชีวศึกษาตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกำศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ปริญญาตรีสายเทคโนโลยี หรือสายปฏิบัติการ และสถานศึกษาที่จัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษา 

โดยให้สถานศึกษาระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และระดับ ปวช. จัดให้มีการเรียนการสอนเรื่องเพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิตให้เหมาะสมกับช่วงวัยของนักเรียน โดยมีเนื้อหาและกระบวนการเรียนรู้ ในเรื่องเพศที่ครอบคลุมถึงพัฒนาการในแต่ละช่วงวัย การมีสัมพันธภาพกับผู้อื่น การพัฒนาทักษะส่วนบุคคล พฤติกรรมทางเพศ สุขภาวะทางเพศ และมิติทางสังคมและวัฒนธรรมที่ส่งผลกระทบต่อเรื่องเพศ รวมทั้งสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและความรู้เกี่ยวกับอนามัยการเจริญพันธุ์ที่ให้ความสำคัญกับความหลากหลายและความเสมอภาคทางเพศ โดยจัดให้มีการติดตามและประเมินผลเกี่ยวกับประสิทธิผลของการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ และให้เป็นส่วนหนึ่งของการวัดผลการศึกษา 

ให้สถานศึกษาสายอาชีวศึกษาระดับ ปวส. และปริญญาตรี และระดับอุดมศึกษา จัดให้มีการเรียนการสอน เรื่องเพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิตให้เหมาะสมกับช่วงวัยของนักศึกษา โดยสอดคล้องกับเนื้อหาและกระบวนการเรียนรู้ในเรื่องเพศ และจัดให้มีการติดตามและประเมินผลการเรียนการสอนดังกล่าวอย่างเป็นระบบ ตามที่สถานศึกษาดังกล่าวกำหนด 

ให้สถานศึกษาระดับอุดมศึกษาพัฒนาการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษาในคณะศึกษาศาสตร์ คณะครุศาสตร์ หรือคณะหรือสาขาอื่นที่เกี่ยวข้องให้มีความรู้และสามารถสอนเพศวิถีศึกษา ทักษะชีวิต และให้คำปรึกษาในเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้สถานศึกษาที่มีนักเรียนหรือนักศึกษาซึ่งตั้งครรภ์อยู่ในสถานศึกษา ต้องไม่ให้นักเรียนหรือนักศึกษานั้นออกจากสถานศึกษาดังกล่าว เว้นแต่เป็นการย้ายสถานศึกษา และให้สถานศึกษาจัดให้มีระบบการดูแล ช่วยเหลือ และคุ้มครองนักเรียนหรือนักศึกษาซึ่งตั้งครรภ์ให้ได้รับการศึกษาด้วยรูปแบบที่เหมาะสมและต่อเนื่อง โดยอนุญาตให้นักเรียนหรือนักศึกษาดังกล่าวหยุดพักการศึกษาในระหว่างการตั้งครรภ์ การคลอด และหลังคลอดเพื่อดูแลบุตร ตามความเหมาะสม และจัดการเรียนการสอนให้เกิดความยืดหยุ่น ตามศักยภาพอย่างต่อเนื่อง พร้อมจัดให้มีผู้ให้คำปรึกษาโดยร่วมมือกับบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ซึ่งปกครองดูแลนักเรียนหรือนักศึกษาซึ่งตั้งครรภ์ในการให้ความช่วยเหลือและสร้างความเข้าใจสำหรับการอยู่ร่วมกับสังคม 

ทั้งนี้ ให้สถานศึกษาอำนวยความสะดวกในการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสม กับนักเรียนหรือนักศึกษาซึ่งตั้งครรภ์ เพื่อประโยชน์ในการจัดระบบตามวรรคสอง ให้สถานศึกษาจัดให้มีช่องทางหรือวิธีการที่หลากหลาย ในการดูแล ช่วยเหลือ และคุ้มครองนักเรียนหรือนักศึกษาซึ่งตั้งครรภ์ รวมทั้งประสานงานและร่วมมือ กับแพทย์ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการยุติธรรม หรือผู้ซึ่งเกี่ยวข้อง เพื่อให้การดูแล ช่วยเหลือ และคุ้มครองนักเรียนหรือนักศึกษาซึ่งตั้งครรภ์นั้น

รายละเอียด “กฎกระทรวงกำหนดประเภทของสถานศึกษาและการดำเนินการของสถานศึกษาในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. ๒๕๖๑”

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๖ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. ๒๕๕๙ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ ๒ ให้สถานศึกษาแต่ละประเภทดังต่อไปนี้ ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
(๑) สถานศึกษาที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในระดับ ดังต่อไปนี้
(ก) ระดับประถมศึกษา
(ข) ระดับมัธยมศึกษา

(๒) สถานศึกษาที่จัดการอาชีวศึกษาตามหลักสูตร ดังต่อไปนี้
(ก) ประกาศนียบัตรวิชาชีพ
(ข) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง
(ค) ปริญญาตรีสายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการ

(๓) สถานศึกษาที่จัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษา

ข้อ ๓ ให้สถานศึกษาตามข้อ ๒ (๑) (ก) และ (ข) และ (๒) (ก) จัดให้มีการเรียนการสอน เรื่องเพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิตให้เหมาะสมกับช่วงวัยของนักเรียน โดยมีเนื้อหาและกระบวนการเรียนรู้ ในเรื่องเพศที่ครอบคลุมถึงพัฒนาการในแต่ละช่วงวัย การมีสัมพันธภาพกับผู้อื่น การพัฒนาทักษะส่วนบุคคล พฤติกรรมทางเพศ สุขภาวะทางเพศ และมิติทางสังคมและวัฒนธรรมที่ส่งผลกระทบต่อเรื่องเพศ รวมทั้งสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและความรู้เกี่ยวกับอนามัยการเจริญพันธุ์ที่ให้ความสำคัญกับความหลากหลายและความเสมอภาคทางเพศ

ให้สถานศึกษาตามข้อ ๒ (๑) (ก) และ (ข) และ (๒) (ก) จัดให้มีการติดตามและประเมินผล เกี่ยวกับประสิทธิผลของการเรียนการสอนตามวรรคหนึ่งอย่างเป็นระบบ และให้เป็นส่วนหนึ่งของการวัดผลการศึกษา

ข้อ ๔ ให้สถานศึกษาตามข้อ ๒ (๒) (ข) และ (ค) และ (๓) จัดให้มีการเรียนการสอน เรื่องเพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิตให้เหมาะสมกับช่วงวัยของนักศึกษาโดยสอดคล้องกับเนื้อหาและกระบวนการเรียนรู้ในเรื่องเพศตามข้อ ๓ วรรคหนึ่ง และจัดให้มีการติดตามและประเมินผลการเรียนกรสอนดังกล่าวอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ ตามที่สถานศึกษาดังกล่าวกำหนด

ข้อ ๕ ให้สถานศึกษาตามข้อ ๒ จัดหาและพัฒนาผู้สอนให้มีความรู้ความสามารถ มีทัศนคติที่ดีและมีทักษะการสอนที่เหมาะสม รวมทั้งเข้าใจจิตวิทยาการเรียนรู้ของนักเรียนหรือนักศึกษาแต่ละระดับที่สอดคล้องกับการจัดการศึกษาของสถานศึกษานั้น ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถสอนเพศวิถีศึกษาทักษะชีวิตและให้คำปรึกษาในเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นแก่นักเรียนหรือนักศึกษา

ในกรณีที่สถานศึกษาตามข้อ ๒ มีผู้สอนเพศวิถีศึกษา ทักษะชีวิต และให้คำปรึกษาไม่เพียงพอ ให้สถานศึกษานั้นประสานงานกับหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานของเอกชนที่เกี่ยวข้อง หรือผู้ซึ่งมีความรู้ความสามารถในการสอนเพศวิถีศึกษา ทักษะชีวิต และให้คำปรึกษาตามวรรคหนึ่ง เพื่อขอรับการสนับสนุนหรือทำหน้าที่เป็นผู้สอนเพศวิถีศึกษา ทักษะชีวิต และให้คำปรึกษาดังกล่าวให้เหมาะสมและเพียงพอ

ข้อ ๖ ให้สถานศึกษาตามข้อ ๒ (๓) พัฒนาการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษาในคณะศึกษาศาสตร์ คณะครุศาสตร์ หรือคณะหรือสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้มีความรู้และสามารถสอนเพศวิถีศึกษา ทักษะชีวิต และให้คำปรึกษาในเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นตามข้อ ๕ วรรคหนึ่ง

ข้อ ๗ สถานศึกษาตามข้อ ๒ ที่มีนักเรียนหรือนักศึกษาซึ่งตั้งครรภ์อยู่ในสถานศึกษาต้องไม่ให้นักเรียนหรือนักศึกษานั้นออกจากสถานศึกษาดังกล่าว เว้นแต่เป็นการย้ายสถานศึกษาให้สถานศึกษาตามวรรคหนึ่ง จัดให้มีระบบการดูแล ช่วยเหลือ และคุ้มครองนักเรียนหรือนักศึกษาซึ่งตั้งครรภ์ให้ได้รับการศึกษาด้วยรูปแบบที่เหมาะสมและต่อเนื่อง ดังต่อไปนี้

(๑) อนุญาตให้นักเรียนหรือนักศึกษาดังกล่าวหยุดพักการศึกษาในระหว่างการตั้งครรภ์ การคลอดและหลังคลอดเพื่อดูแลบุตร ตามความเหมาะสม และจัดการเรียนการสอนให้เกิดความยืดหยุ่นตามศักยภาพอย่างต่อเนื่อง

(๒) จัดให้มีผู้ให้คำปรึกษาตามข้อ ๕ โดยร่วมมือกับบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ซึ่งปกครองดูแลนักเรียนหรือนักศึกษาซึ่งตั้งครรภ์ในการให้ความช่วยเหลือและสร้างความเข้าใจสำหรับการอยู่ร่วมกับสังคม ทั้งนี้ ให้สถานศึกษาอำนวยความสะดวกในการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสมกับนักเรียนหรือนักศึกษาซึ่งตั้งครรภ์

เพื่อประโยชน์ในการจัดระบบตามวรรคสอง ให้สถานศึกษาจัดให้มีช่องทางหรือวิธีการที่หลากหลายในการดูแล ช่วยเหลือ และคุ้มครองนักเรียนหรือนักศึกษาซึ่งตั้งครรภ์ รวมทั้งประสานงานและร่วมมือกับแพทย์ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการยุติธรรม หรือผู้ซึ่งเกี่ยวข้องเพื่อให้การดูแล ช่วยเหลือ และคุ้มครองนักเรียนหรือนักศึกษาซึ่งตั้งครรภ์นั้น

ข้อ ๘ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องส่งต่อนักเรียนหรือนักศึกษาซึ่งตั้งครรภ์ให้ได้รับบริการอนามัยการเจริญพันธุ์หรือการจัดสวัสดิการสังคม ให้สถานศึกษาตามข้อ ๒ จัดให้มีระบบการส่งต่อโดยประสานกับสถานบริการหรือหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานของเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้นักเรียนหรือนักศึกษาซึ่งตั้งครรภ์นั้นได้รับบริการอนามัยการเจริญพันธุ์และการจัดสวัสดิการสังคมอย่างเหมาะสม

ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๑ 
ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ 
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ